งานนมัสการพระธาตุพนม ประจำปี 2566 วันที่ 29 ม.ค. – 6 ก.พ. 66

งานนมัสการองค์พระธาตุพนม 2566

จังหวัดนครพนมกำหนดจัดงานนมัสการองค์พระธาตุพนม ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 29 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนในการบำเพ็ญกุศล เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของพระรัตนตรัย เพื่อรวบรวมรายได้จากการบริจาคไว้บำรุง บูรณะองค์พระธาตุพนม และวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร

กิจกรรม งานนมัสการองค์พระธาตุพนม ระหว่างวันที่ 29 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2566

  • พิธีอัญเชิญพระอุปคุต
  • พิธีเวียนเทียน
  • ตักบาตรข้าวเหนียว
  • ฟังพระธรรมเทศนา
  • ชมนิทรรศกาลหมู่บ้านศีลห้า
  • พิธีแห่กองบุญ
  • ตักบาตรคู่อายุ
  • ถวายผ้าห่มองค์พระธาตุ
  • ฟังหมอลำพื้นบ้าน
  • ชมการรำถวายองค์พระธาตุพนม

วีดีโองานนมัสการพระธาตุพนม 2566

ประวัติองค์พระธาตุพนม

พระธาตุพนม ก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 8 หมายถึงภายหลังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ได้ 8 ปี โดยมีพระมหากัสสปะเถวะพร้อมเจ้าพระยาทั้ง 5 หัวเมืองร่วมกันสร้าง นับอายุได้ 2,000 ปี เศษแล้ว การก่อสร้างครั้งแรกมีลักษณะเป็นอุโมงค์บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุส่วนหัวอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ภายใน ต่อมาผู้มีอำนาจการปกครองทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองได้บูรณะต่อเติม มาหลายครั้งจากทรงรูปอุโมงค์กลายเป็นรูปเจดีย์เหลี่ยมทรงสูง ซึ่งมีความสูงถึง 43 เมตร

เมื่อ พ.ศ. 2483 กรมศิลปากร ได้จัดสรรงบประมาณมาบูรณะต่อเติมให้สูงขึ้นอีก 10 เมตร เป็น 53 เมตร รวมยอดฉัตร 4 เมตร รวมเป็น 57 เมตร เนื่องจากองค์พระธาตุพนม มีอายุการก่อสร้างเก่าแก่ถึง 2,000 ปีเศษ จึงได้พังทลายลงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พุทธศักราช 2518 รัฐบาลจึงได้ทำการบูรณะครั้งสุดท้าย โดยได้ก่อสร้างองค์พระธาตุพนมขึ้นใหม่ ซึ่งยังคงรูปร่างและลวดลายเดิมทุกประการ ความสูงเท่าเดิม การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาทรงประกอบพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2522

งานนมัสการองค์พระธาตุพนม

เนื่องจากองค์พระธาตุพนม เป็นปูชนียสถานที่บรรจุพระธาตุส่วนทรวงอก ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีอายุเก่าแก่ และตั้งอยู่ในแคว้นศรีโคตบูรในอดีต จึงเป็นที่เคารพสักการบูชาของพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งไทยและลาว ในงานเทศกาลระหว่างเดือนสามเพ็ญแต่ละปีจะมีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวสองฝั่งโขง คือราชอาณาจักรไทยและจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลั่งไหลมานมัสการพระธาตุพนมเป็นเรือนแสน โดยไม่มีกำหนดการและนัดหมายแต่อย่างใด